แบบไหนที่เรียกว่า "ภาวะคลอดก่อนกำหนด"
การคลอดก่อนกำหนด คือ ภาวะที่ปากมดลูกเปิด เป็นผลมาจากการหดตัวและขยายตัวของมดลูกก่อนที่อายุครรภ์จะครบ 37 สัปดาห์ ซึ่งโดยปกติแล้วการตั้งครรภ์แบบครบกำหนดจะนับตั้งแต่อายุครรภ์ 37-40 สัปดาห์ และไม่เกิน 42 สัปดาห์ ซึ่งการคลอดก่อนกำหนดนั้น จะส่งผลกระทบต่อทั้งคุณแม่และอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนต่อทารกได้
สาเหตุของการคลอดก่อนกำหนด แบ่งเป็น 3 สาเหตุหลัก คือ
สาเหตุจากสุขภาพของคุณแม่
โรคประจำตัว คุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีโรคประจำตัวจะส่งผลกระทบกับการตั้งครรภ์โดยตรง เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันสูง โรคหัวใจ โรคปอด หรือ โรคประจำตัวอื่นๆ เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้คลอดก่อนกำหนดได้
ความเครียดของคุณแม่ โดยปกติคุณแม่ตั้งครรภ์จะมีภาวะเครียดได้ง่ายกว่าคนที่ไม่ตั้งครรภ์ เนื่องจากระดับฮอร์โมนและความไม่สบายตัวจากการตั้งครรภ์จะส่งผลต่ออารมณ์ของคุณแม่โดยตรง โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสที่ 3 ของการตั้งครรภ์ จะทำให้คุณแม่อึดอัดตัว เหนื่อยง่าย ฮอร์โมนแปรปรวน ส่งผลให้มีความเครียดมากขึ้นตามไปด้วย ซึ่งหากคุณแม่มีความเครียดมากๆ จะกระตุ้นให้มีการบีบตัวของมดลูกมากขึ้น จนเกิดภาวะคลอดก่อนกำหนดได้
ประวัติการตั้งครรภ์ของคุณแม่ การมีประวัติการคลอดก่อนกำหนดในการตั้งครรภ์ครั้งแรกจะทำให้การตั้งครรภ์ครั้งถัดมามีโอกาสที่จะคลอดก่อนกำหนดได้ด้วยเช่นกัน
การติดเชื้อและการอักเสบ ภาวะการติดเชื้อและการอักเสบของคุณแม่ตั้งครรภ์จะส่งผลต่อการตั้งครรภ์โดยตรง ที่พบได้บ่อยคือการติดเชื้อในกระเพาะปัสสาวะ และการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ เช่น กระเพาะปัสสาวะอักเสบ โรคไข้หวัดใหญ่ หรือ การมีไข้ที่จากการรับเชื้อโรคอื่นๆ
พฤติกรรมการใช้ชีวิตที่เป็นตัวกระตุ้น ปัจจัยที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการคลอดก่อนกำหนดอาจจะเกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันของคุณแม่หรือเกิดจากอุบัติเหตุที่ไม่คาดคิดจึงทำให้ต้องคลอดก่อนกำหนด พฤติกรรมเสี่ยงที่ทำให้คลอดก่อนกำหนดคือ การเดินเยอะ ทำกิจกรรมหนัก เดินเร็ว ทำสิ่งต่างๆ เร็วจนไม่ระวังตัว ซึ่งอาจจะทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ แต่หลายคนยังเข้าใจผิดว่าคุณแม่ตั้งครรภ์ไม่สามารถออกกำลังกายได้ จากคำแนะนำของแพทย์คือสามารถออกกำลังได้ตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์ไปจนถึงไตรมาสที่ 2 หรือไม่เกิน 28 สัปดาห์ และควรออกกำลังกายเบาๆ เช่น โยคะ ว่ายน้ำ หรือ เดินเบาๆ และอยู่ในการดูแลของผู้เชี่ยวชาญเพื่อไม่เป็นอันตรายกับการตั้งครรภ์และกระตุ้นให้มดลูกบีบตัวมากจนเกินไป
สาเหตุจากความผิดปกติในมดลูก
ปากมดลูกสั้น ปากมดลูกเป็นอวัยวะที่มีหน้าที่เหมือนเป็นถุงรัดหูรูดมดลูก คนที่มีปากมดลูกยาว ความแน่นในการรัดหูรูดก็จะมาก แต่ถ้าหากปากมดลูกสั้น การรัดหูรูดก็จะน้อย ทำให้มีโอกาสคลอดก่อนกำหนดได้ง่าย หากสั้นกว่า 2-2.5 เซนติเมตร จะถือว่ามีโอกาสคลอดก่อนกำหนดและจำเป็นต้องเฝ้าระวังตัว แต่โดยปกติแล้วคุณแม่จะทราบเมื่อมาฝากครรภ์และได้รับการอัลตราซาวนด์ดูปากมดลูกในช่วงไตรมาส 2 หากสามารถแก้ไขได้ แพทย์จะให้ฮอร์โมนเพิ่มเติมหรือใช้อุปกรณ์ เพื่อช่วยไม่ให้คลอดก่อนกำหนด
มีเนื้องอกที่มดลูก โดยปกติมดลูกของคนเราจะขยายตัวได้ดี แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่มีเนื้องอก การขยายตัวจะไม่ดีเท่าที่ควร ทำให้มดลูกเกิดการบีบรัดตัวผิดปกติ ซึ่งเป็นสาเหตุให้คลอดก่อนกำหนดได้
รูปร่างของมดลูกที่ผิดปกติ ความผิดปกติในมดลูกเป็นความเสี่ยงที่ซ่อนเร้นตั้งแต่กำเนิด บางคนมดลูกมี 2 ข้าง หรือ มีการผิดรูปแต่กำเนิด ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของการคลอดก่อนกำหนดได้
การติดเชื้อในถุงน้ำคร่ำหรือภาวะถุงน้ำคร่ำอักเสบ เป็นภาวะที่เกิดการอักเสบของเยื่อหุ้มทารกหรือถุงน้ำคร่ำ จากการติดเชื้อแบคทีเรีย ส่วนใหญ่เกิดจากการที่เชื้อแบคทีเรียเจริญจากช่องคลอดขึ้นไปสู่มดลูก
สาเหตุจากทารกในครรภ์
ทารกเสียชีวิตในครรภ์ หมายถึง การตายของทารกก่อนคลอด โดยไม่คำนึงถึงอายุครรภ์ อาจเกิดจากปัญหาสุขภาพของแม่ หรือแม่ประสบอุบัติเหตุในระหว่างตั้งครรภ์
ทารกมีความผิดปกติหรือพิการ โดยปกติแล้วทารกจะต้องอยู่ในครรภ์แม่ 37-40 สัปดาห์ แต่ในระหว่างตั้งครรภ์ หากเกิดความผิดปกติที่อาจจะส่งผลต่อสุขภาพหรือการเจริญเติบโตของทารก แพทย์จำเป็นที่จะต้องผ่าคลอดก่อนกำหนดเพื่อช่วยชีวิตทารกเอาไว้และนำทารกมาดูแลในตู้อบจนกว่าจะสามารถหายใจด้วยตัวเองในอุณหภูมิห้องได้
ครรภ์แฝด กว่าร้อยละ 50 ของการตั้งครรภ์แฝด มักจะคลอดก่อนกำหนด เนื่องจากมีโอกาสที่มดลูกจะบีบตัวเร็วมากกว่าการตั้งครรภ์เดี่ยว
วิธีการป้องกันและดูแลตัวเอง
อาการแบบไหน ที่บอกว่าควรมาพบแพทย์โดยด่วน
การบีบตัวของมดลูกที่ถี่ขึ้น แรงขึ้น โดยปกติแล้วอายุครรภ์หลัง 30 สัปดาห์ขึ้นไปจะมีการบีบตัวของมดลูกอยู่บ้าง แต่จะไม่บ่อย ไม่ถี่ และไม่สม่ำเสมอ ถ้าคุณแม่สังเกตตัวเองแล้วพบว่ามีการบีบตัวมากกว่าปกติต้องรีบมาพบแพทย์ในทันที
มีน้ำใสๆ ออกมาจากช่องคลอดหรือที่เรียกว่า ‘น้ำเดิน’
มีมูกปนเลือดออกมาจากช่องคลอด ซึ่งมูกนี้เป็นมูกที่อุดปากช่องคลอด แสดงว่าปากมดลูกมีแนวโน้มที่จะเปิด เป็นสัญญาณว่าใกล้คลอดแล้ว
ลูกดิ้นน้อยลง เช่น จากภาวะการขาดออกซิเจน สามารถกระตุ้นให้คุณแม่เจ็บครรภ์ก่อนกำหนดได้
ความเสี่ยงที่จะเกิดกับแม่และทารกในครรภ์
ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นกับทารก ทารกที่คลอดก่อนกำหนดร่างกายมักจะยังเจริญเติบโตไม่ครบสมบูรณ์ โดยเฉพาะปอดและระบบทางเดินทางใจที่ยังไม่โตเต็มที่ หลังคลอดทารกจึงต้องอาศัยอยู่ในตู้ปรับอุณหภูมิ ขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่คลอดก่อนกำหนด เพื่อช่วยให้ทารกสามารถหายใจได้ และต้องอาศัยอยู่ในตู้ปรับอุณหภูมิ จนกว่าจะสามารถปรับตัวในอุณหภูมิห้องและหายใจในอากาศปกติได้
ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นกับคุณแม่ โดยปกติแล้วมักจะไม่มีอันตรายร้ายแรงหากไม่มีโรคแทรกซ้อน แต่คุณแม่มักจะมีน้ำนมช้า หรือมีน้ำนมน้อย เนื่องจากร่างกายยังไม่พร้อม หลังคลอดให้ดูแลตัวเองเหมือนคนคลอดตามปกติ
Comments