การดิ้นของทารกในครรภ์ ไม่ได้เป็นเพียงสัญญาณให้คุณแม่และครอบครัวรู้สึกตื่นเต้นและดีใจเท่านั้น แต่ยังเป็นสิ่งสำคัญที่กำลังบ่งบอกถึงสุขภาพของทารกในครรภ์ของคุณแม่อีกด้วย คุณแม่จึงควรมีการจดบันทึกถึงความเปลี่ยนแปลงไว้อยู่เสมอ เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ตามมา
เพราะหากลูกไม่ดิ้นหรือดิ้นน้อยลง อาจเป็นสัญญาณว่าลูกน้อยกำลังตกอยู่ในอันตราย โดยเฉพาะใกล้ครบกำหนดคลอดแต่ลูกยังดิ้นน้อยอยู่ หรือดิ้นห่างลงไปเรื่อยๆ หรือหยุดดิ้น ควรรีบพบแพทย์ทันที เพราะอาจมีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้นกับลูก คุณแม่ควรให้ความสำคัญ และคอยสังเกตความผิดปกติ เพื่อความปลอดภัยของทารกในครรภ์
อาการคุณแม่ตั้งครรภ์จะเริ่มรู้สึกถึงการเคลื่อนไหวในช่วงสัปดาห์ที่ 16-20 ของการตั้งครรภ์ บางรายก็รู้สึกเหมือนเส้นประสาทกระตุกเบาๆ โดยการขยับตัวของทารกจะมีการเตะ ต่อย การพลิกตัวและม้วนตัว โดยการดิ้นของเด็กจะเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆจนถึงสัปดาห์ที่ 32 จากนั้นจะคงที่ การเคลื่อนไหวของทารกอาจเปลี่ยนแปลงได้ในช่วงใกล้วันครบกำหนดคลอด
ในช่วงแรกอายุครรภ์ 1-3 เดือน ทารกในครรภ์จะขยับตัวเพียงเล็กน้อยและไม่บ่อย เมื่อคุณแม่เข้าสู่ช่วงอายุครรภ์ 4-6 เดือน ทารกจะมีการขยับตัวมากขึ้นจนทำให้สามารถรับรู้ถึงการเคลื่อนไหวของทารกได้อย่างชัดเจนและบ่อยมากขึ้น และช่วงอายุครรภ์ 7-9 เดือน ทารกอาจมีการขยับตัวถึง 30 ครั้งต่อชั่วโมง
ลูกดิ้นมากโดยส่วนใหญ่ลูกดิ้นมากจะไม่ถือว่าผิดปกติ เพราะลูกจะมีช่วงตื่นช่วงหลับ ในช่วงที่ตื่นก็อาจจะรู้สึกว่าดิ้นมาก ซึ่งจะไม่เป็นอันตราย แต่จะมีข้อยกเว้นบางกรณีหรือมีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่ถือว่าผิดปกติ ซึ่งการดิ้นที่ผิดปกตินี้จะมีลักษณะอาการที่ต่างไปจากการดิ้นธรรมดา โดยอาการลูกดิ้นมากที่แสดงถึงสัญญาณอันตรายก็คือ ลูกดิ้นแรงมากอยู่ระยะหนึ่งแล้วหยุดดิ้นไปเลย และไม่มีอาการดิ้นอีกต่อไป ควรรีบพบแพทย์ทันที
ลูกดิ้นน้อยถ้าลูกดิ้นน้อยลง ให้ลองนับจำนวนการดิ้นของทารกที่รู้สึกได้ ซึ่งไม่ควรต่ำกว่า 10 ครั้ง ต่อเวลา 2 ชั่วโมง หากน้อยกว่านี้ควรลองนับใหม่อีกครั้งหนึ่งในวันเดียวกัน และถ้ายังไม่ถึง 10 ครั้งอีกก็ควรปรึกษาแพทย์
เหตุที่ทารกไม่ดิ้น หรือดิ้นน้อย เกิดจากอะไร
การที่ทารกมีการขยับตัวจะเป็นสัญญาณถึงพัฒนาการของเด็ก แต่ผู้ที่พบว่าตัวเองไม่รู้สึกถึงการขยับตัวของทารก หรือทารกไม่ดิ้นเลยอาจเป็นสาเหตุมาจากทารกในครรภ์กำลังหลับ ช่วงเวลาที่หลับจะเป็นช่วงที่มีการขยับตัวน้อยที่สุด หรือเป็นเพราะทารกตัวใหญ่จนขยับตัวได้ยาก ตั้งแต่ช่วงสัปดาห์ที่ 32 เป็นต้นไป ทารกจะมีขนาดใหญ่ขึ้น ในขณะที่มดลูกยังขนาดเท่าเดิม ซึ่งจะทำให้เด็กไม่สามารถขยับตัวได้เหมือนการตั้งครรภ์ช่วงแรกๆนั่นเอง
เมื่อคุณแม่กระตุ้นให้ทารกเกิดการตอบสนองด้วยวิธีการต่างๆ เช่น การรับประทานของว่าง ดื่มน้ำเย็น ดื่มเครื่องดื่มหวานๆ ขยับร่างกาย เปิดเพลงเสียงดังแล้วเด็กยังไม่ตอบสนอง อาจแสดงถึงความผิดปกติกับการตั้งครรภ์ หรือมีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพของทารก ควรรีบพบแพทย์เพื่อทำการตรวจอย่างละเอียด
การตรวจสุขภาพของครรภ์และทารก
การตรวจอัลตราซาวด์ (Fetal Ultrasound)
จะเป็นการใช้การส่งคลื่นเสียงไปสะท้อนเพื่อให้กลับมาเป็นรูปภาพ ภาพที่ได้จะแสดงให้เห็นการเคลื่อนไหวของเด็กในครรภ์ อัตราการเต้นของหัวใจ และท่าทางของเด็ก
การตรวจสุขภาพทารกในครรภ์ (Nonstress Test)
คือการตรวจอัตราการเต้นของหัวใจทารก โดยการนำแผ่นเหล็กขนาดเล็กที่ทาเจลวางลงบนท้อง จากนั้นใช้เข็มขัดคาดไว้ เพื่อไม่ให้แผ่นเหล็กขยับไปจากที่เดิม
การตรวจวัดความเร็วของเลือดในหลอดเลือดทารกในครรภ์ (Fetal Doppler Velocimetry)
จะเป็นการคล้ายกับวิธีการตรวจสุขภาพทารก แต่จะมีการใช้คลื่นเสียงร่วมด้วยเพื่อตรวจการไหลเวียนของเลือดภายในรกและสายสะดือ ซึ่งจะช่วยให้ทราบอัตราการเต้นของหัวใจทารก
Comments